สถานที่ท่องเที่ยวไทย

baanpeuan

เที่ยวกรุงเทพ แก้ปีชง ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า ขอพรและโชคลาภ
ฉบับสายมู

เส้น

             ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า หรือที่ชาวจีนในไทยเราเรียกกันว่า ศาลตั่วเหล่าเอี้ย เป็นศาลเจ้าจีนสายลัทธิเต๋าที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงมากๆ อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ด้วยความเชื่อที่มีสืบต่อกันมาว่า หากใครที่กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจ อยากจะขอพรในเรื่องการงานให้ประสบความสำเร็จ เสริมอำนาจบารมี ให้ร่ำรวยเงินทองล่ะก็ ต้องมาไหว้ขอพรที่ศาลเจ้าพ่อเสือแห่งนี้ อีกทั้งยังมีความเชื่อในเรื่องของ การแก้ชง โดยใครที่เกิดปีชง ก็จะต้องมาทำ พิธีปัดตัวสะเดาะเคราะห์ แก้ชง เสริมสิริมงคลกันอีกด้วย เรามาทราบประวัติ ศาลเจ้าพ่อเสือ กันสักหน่อยดีกว่า

เส้น

ประวัติของศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า

             ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สร้างโดย กรมหมื่นอุดมรัตนราษี (พระองค์เจ้าอรรณพ พระราชโอรสในสมเด็จพระนั่งเกล้า) โดยสถานที่เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง จึงได้โปรดให้ย้ายศาลเจ้าพ่อเสือมาไว้ที่ ทางสามแพร่ง ถนนตะนาว ซึ่งก็คือสถานที่ตั้งในปัจจุบันนั่นเอง

ประวัติศาลเจ้าพ่อเสือ
ประวัติศาลเจ้าพ่อเสือ

ตำนานศาลเจ้าพ่อเสือ

             ในการสร้างศาลพ่อเจ้าเสือนั้น ได้มีการนำเอา กระดูกเสือ บรรจุในแท่น ปั้นรูปประดิษฐานบนแท่น และอัญเชิญดวงวิญญาณเสือ ขอให้ปกปักรักษาประชาชนให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ศาลเจ้าพ่อเสือ จึงเป็นศาสนสถานที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของคนไทยและจีนในพื้นที่บริเวณนี้ที่มีมาช้านานอีกด้วย

เส้น

ตำนานศาลเจ้าพ่อเสือ

             ศาลเจ้าพ่อเสือตามในตำนานจีนนั้น เป็นเทพเจ้าเสือแห่งการปกป้อง โดยเรามักพบเห็นในวัดของลัทธิเต๋าของจีน บูชาเพื่อไล่วิญญาณที่เป็นศัตรูต่างๆ ในไทยเราก็มีตำนานศาลเจ้าพ่อเสือเช่นเดียวกันค่ะ ซึ่งเป็นตำนานจีนที่ผสมผสานกับตำนานของไทยโดยมีเรื่องอยู่ว่า

ตำนานศาลเจ้าพ่อเสือ
             เดิมทีบริเวณนี้ในสมัยก่อนยังเป็นป่าซึ่งมีสัตว์ต่างๆ อาศัยอยู่มาก และมีครอบครัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆ คือ นายสอน และ ยายผอง 2 แม่ลูก ด้วยความยากจน นายสอนจึงต้องเข้าป่าเพื่อไปเก็บของป่าทุกๆ วัน วันหนึ่งนายสอนได้ไปเจอซากกวางใหม่ๆ จึงมีความคิดอยากนำเนื้อกวางไปฝากแม่ จึงเข้าไปตัดชิ้นเนื้อกวางมา และขณะนั้นเอง เสือที่ซุ่มอยู่ ก็กระโจนมาขย้ำเข้าที่แขนจนขาด
นายสอนตะเกียกตะกายทั้งที่บาดเจ็บสาหัสกลับไปที่บ้าน และเล่าเรื่องให้ยายผ่องรู้ทั้งหมด ก่อนจะสิ้นใจไป ด้วยความเสียใจที่สูญเสียลูก ยายผ่องจึงไปร้องกับนายอำเภอให้จับเสือมาลงโทษให้ได้ นายอำเภอและปลัด จึงออกตามหาเสือ แต่ไม่พบ ตอนต้องมาพึ่งบารมี ไปอธิษฐานต่อ หลวงพ่อบุญฤทธิ์ และ หลวงพ่อพระร่วง ที่ วัดมหรรณพาราม จากนั้นก็ได้เจอเสือที่หมอบอยู่พร้อมให้จับโดยดี

             เมื่อจับเสือมาได้ นายอำเภอก็พิพากษาตัดสินประหารชีวิตเสือ เสือก้มหัวยอมรับ ลงนอนหมอบราบกับพื้นหลับตาเฉย แต่มีน้ำตาไหลซึม เมื่อยายผ่องเห็น อาการที่เคยโกรธเสือมาก่อนก็มลายหายไป เหลือแต่ความสงสาร จึงร้องขอชีวิตเสือต่อนายอำเภอ หลังจากนั้น ก็ได้นำเสือก็มาเลี้ยงจนเชื่อง

             เมื่อยายผ่องถึงแก่กรรม เสือก็มีความโศกเศร้าเสียใจอย่างที่สุด และเกิดอาการตรอมใจ เมื่อเผาร่างของยายผ่อง เสือได้กระโจนเข้าไปในกองไฟด้วยสำนึกใจคุณของยายผ่อง สร้างความสลดใจแก่ชาวบ้าน ชาวบ้านจึงร่วมใจกันสร้างศาลข้างวัดมหรรณพาราม โดยปั้นรูปเสือไว้พร้อมนำเถ้ากระดูกของมันมาไว้ใต้แท่นและทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณเสือมาสถิตย์ไว้นั่นเอง

เส้น

ข้อมูล ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า กรุงเทพฯ

ที่อยู่ : 468 ถนนตะนาว เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ใกล้เสาชิงช้า)

เปิดให้เข้าชม : 06.00-17.00 น.

โทร : 0-2224-2110

เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/bkktigershrine

เส้น

            ใครสายมูอย่าลืมถ้ามีโอกาศแวะเวียนไปไหว้สักการะสิ่งศักสิทธิ์และขอพรในโอกาศขึ้นปีใหม่กันด้วยนะ

เส้น